1. คำถาม ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ ช จำกัด ว่าด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และการประนอมหนี้ ข้อความที่ว่า “ลูกหนี้ยินยอมให้นำเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนประจำทุกปีชำระหนี้จนกว่าจะเสร็จสิ้น” ระเบียบดังกล่าวดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
คำตอบ เมื่อเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนเป็นสิทธิเรียกร้องของสมาชิกที่มีอยู่กับสหกรณ์ตามจำนวนที่มีสิทธิได้รับ ซึ่งสมาชิกสหกรณ์ผู้สมัครใจขอเข้าร่วมการปรับโครงสร้างหนี้และการประนอมหนี้ ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะตกลงและให้ความยินยอมเป็นไปตามหลักความยินยอมของคู่สัญญา ทั้งมิใช่การสละสิทธิในเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืน ระเบียบดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย |
2. คำถาม กรรมการของสหกรณ์หรือผู้จัดการสหกรณ์ ที่เคยถูกศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกแต่ให้รอการลงโทษไว้ กรณีดังกล่าวถือเป็นลักษณะต้องห้ามเป็นหรือทำหน้าที่กรรมการสหกรณ์ ตามมาตรา 52 (1) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 หรือไม่
คำตอบ ตามมาตรา 52 (1) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 กำหนดว่า “ห้ามมิให้บุคคลซึ่งเคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ” บทบัญญัติดังกล่าวห้ามเฉพาะผู้ที่เคยรับโทษจำคุกจริงๆ เท่านั้น ดังนั้น การที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกแต่รอการลงโทษไว้จึงถือไม่ได้ว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน บุคคลดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 52 (1)
|
3. คำถาม สหกรณ์แห่งหนึ่งสามารถซื้อหุ้นหรือถือหุ้นในสหกรณ์อีกแห่งหนึ่งได้หรือไม่
คำตอบ เมื่อมาตรา 33 (2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 กำหนดให้เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้นที่สามารถเป็นสมาชิกสหกรณ์และสามารถลงทุนโดยการถือหุ้นของสหกรณ์ได้ อีกทั้งเมื่อไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้สหกรณ์แห่งหนึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์อีกแห่งหนึ่งได้โดยการถือหุ้นของสหกรณ์อื่น ดังนั้น สหกรณ์จึงไม่สามารถขายหุ้นให้แก่สหกรณ์อื่นที่มาซื้อหุ้นได้ เพราะเป็นกระกระทำที่ขัดต่อแห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 |
4. คำถาม สมาชิกถูกให้ออกจากสหกรณ์ เนื่องจากค้างส่งเงินงวดชำระหนี้เงินกู้ที่กู้ยืมไว้กับสหกรณ์ สหกรณ์มีสิทธิในการนำเงินค่าหุ้นของสมาชิก เงินปันผล และเงินเฉลี่ยคืน มาหักชำระหนี้ได้มากน้อยเพียงใด
คำตอบ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 บัญญัติคุ้มครองเงินค่าหุ้นโดยกำหนดให้สหกรณ์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษเหนือเงินค่าหุ้น ดังนั้น สหกรณ์จึงมีสิทธินำเงินตามมูลค่าหุ้นของสมาชิกที่มีอยู่กับสหกรณ์มาหักกลบลบหนี้ที่สมาชิกต้องชำระแก่สหกรณ์ได้ ในส่วนของเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนนั้น แม้ว่ามาตรา 42 จะไม่ได้กำหนดให้สิทธิแก่สหกรณ์เอาไว้เช่นกรณีของเงินค่าหุ้น แต่สหกรณ์ในฐานะเจ้าหนี้เงินกู้ก็สามารถใช้สิทธิหักกลบลบหนี้เอาจากเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนที่สมาชิกรายดังกล่าวมีสิทธิได้รับจากสหกรณ์เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายได้ตามมาตรา 341 และมาตรา 342 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับข้อบังคับของสหกรณ์ |
5. คำถาม นายทะเบียนสหกรณ์ใช้อำนาจเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ ตามมาตรา ๕๕ วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 เนื่องจากสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกของสหกรณ์ร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ แต่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ไม่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน หากสมาชิกสหกรณ์หรือผู้แทนสมาชิกของสหกรณ์ดังกล่าวที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนายทะเบียนสหกรณ์สามารถอุทธรณ์ได้หรือไม่
คำตอบ บทบัญญัติมาตรา 55 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 เป็นบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ มิใช่เป็นการสั่งการที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ระหว่างนายทะเบียนสหกรณ์กับสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิก จึงไม่เป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น สมาชิกสหกรณ์ ผู้แทนสมาชิกสหกรณ์ หรือคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จึงไม่มีสิทธิในการอุทธรณ์หรือคัดค้านการกระทำดังกล่าวของนายทะเบียนสหกรณ์ อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่ได้รับผลกระทบเห็นว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย เช่น กระบวนการในการเรียกประชุมมิชอบ เป็นต้น ย่อมใช้สิทธิทางศาลได้ |
สำนักนายทะเบียนและกฎหมาย
กรมส่งเสริมสหกรณ์ เลขที่ 12 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์. 0-2282-4286 E-mail.
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2565 สำนักนายทะเบียนและกฎหมาย
copyright © 2022 information